9 ข้อ สำคัญ หลัง ครม. มีมติให้เสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

วันที่ 8 ก.ค. 2563 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เนื่องจากกฎหมายมีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งเสนอโดยกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีหลักเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

สภาล่ม “ครูมานิตย์” เสนอ นับองค์ประชุม-“รังสิมันต์” ซัด เสียดายภาษี
เจาะกึ๋น “กลุ่มแคร์” อาสาคู่ขนานผ่านวิกฤติ : เป้าหมายคือประชาชน
“เพนกวิน” ยังประกาศ “อารยะขัดขืน” จี้ รบ.เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทันที
สาระสำคัญ 9 ข้อ ของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีดังต่อไปนี้

1. คำว่า “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคล 2 คน ซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.คู่ชีวิต

2. การกำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.คู่ชีวิต

3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิต จะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย ยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้ง 2 ฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

4. กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือ ศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต

5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป เช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็น สินส่วนตัว และสินทรัพย์ร่วมกัน

7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนเองได้

8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจากไป ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตได้โดยอนุโลม

สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระ คือ

1. กำหนดให้ชายหรือหญิง จะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรส หรือคู่ชีวิตอยู่ไม่ได้

2. กำหนดให้เหตุผลฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภรรยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต

3. กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากมีการจัดทำร่างและทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ รวมถึงให้กระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาศึกษาผลกระทบ และแนวทางที่จะแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน และเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกสิทธิ์เช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ จึงทำให้การประเมินและติดตามการกฎหมายของ 2 ฉบับนี้หลังบังคับใช้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นๆ ตามมา เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิ์ของคู่สมรสเพศเดียวกัน.